Projector Visualizer จอภาพ

โปรเจคเตอร์มีหลักการทำงานอย่างไร?

โดยหลักการแล้ว เครื่องโปรเจคเตอร์ หรือเครื่องฉายภาพทั้งหลายมีการทำงานโดยมีส่วนสำคัญหลัก ๆ อยู่ 3 ส่วน ด้วยกันได้แก่

1 ส่วนที่เป็นแหล่งภาพ

2 ส่วนที่เป็นแหล่งของแสง 

3 ส่วนของเลนส์ฉายภาพเพื่อนำภาพและแสงไปแสดงบนจอ

 

การทำงานของเครื่องฉายภาพโปรเจคเตอร์คุยกันให้เข้าใจง่าย ๆ สรุปโดยย่อได้ดังนี้

ภายในเครื่องฉายภาพโปรเจคเตอร์ จะต้องมีแหล่งภาพ 

อย่างในเครื่องฉายหนังจะมีฟิล์มเป็นแหล่งภาพ 

ในเครื่องฉายสไลด์ก็มีแผ่นฟิล์มสไลด์เป็นแหล่งที่มาของภาพ 

ในเครื่องฉายแผ่นใส แหล่งภาพก็คือแผ่นใสที่วางอยู่บนเครื่อง

จากนั้นเขาก็เอาส่วนที่เป็นแหล่งแสงซึ่งได้แก่หลอดไฟที่มีกำลังส่องสว่างสูง ๆ ฉายแสงส่องไปที่แหล่งภาพ 

จะสังเกตุได้ว่าส่วนแหล่งภาพทั้งหลายจะต้องโปร่งแสงเพื่อให้แสงสามารถฉายทะลุผ่านไปได้

แสงที่ส่องผ่านแหล่งภาพนี้ จะเดินทางต่อไปยังส่วนเลนส์ฉายภาพ เพื่อรวมแสงและขยายภาพให้ไปปรากฏบนจอรับภาพ

ภาพจะใหญ่มาก ใหญ่น้อย ขึ้นกับกำลังขยายของเลนส์ และระยะทางจากเครื่องฉายภาพไปยังจอรับภาพด้วย 

(ระยะทางยิ่งมาก ภาพจะยิ่งใหญ่ขึ้น)

เพียงขั้นตอนง่าย ๆ แค่นี้ ทำให้เกิดการฉายภาพให้เราได้ชมกัน

 

ในส่วนเครื่องฉายแอลซีดี (LCD Projector) และเครื่องฉายดีแอลพี (DLP Projector) 

ก็มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องฉายภาพอื่น ๆ ที่ได้กล่าวมา

ข้อแตกต่างคือส่วนที่เป็นแหล่งภาพ 

เนื่องจากภาพที่มาจากคอมพิวเตอร์นั้น ไม่ได้มาในรูปของแผ่นภาพ หรือแผ่นฟิล์มที่มีลักษณะเป็นชิ้น หรือเป็นแผ่น 

แต่มาในลักษณะของสัญญาณภาพ

ดังนั้น เขาจึงคิดเอาวัสดุที่จะให้เป็นตัวรับสัญญาณจากคอมพิวเตอร์แล้วแปลงให้เกิดภาพขึ้นมา

วัสดุที่ว่านี้ก็มีคนคิดออกมาเป็นแบบต่าง ๆ หลายแบบ แบบที่เราคุ้นชื่อ คุ้นหู คือ 

LCD Panel ที่อยู่ในเครื่อง LCD Projector 

และ DMD Chip ที่อยู่ในเครื่อง DLP Projector 

ตัววัสดุที่ทำให้เกิดภาพไม่ได้มีอยู่เพียงแค่สองแบบนี้ ยังมีแบบอื่นอีก แต่ไม่ขอกล่าวถึงนะครับ เพราะจะทำให้เนื้อหาวุ่นวายไปกันใหญ่

 

ว่ากันต่อถึงเรื่องของ เครื่องฉายแอลซีดี (LCD Projector) และเครื่องฉายดีแอลพี (DLP Projector) 

เนื่องจากการสร้างภาพในเครื่องทั้งสองแบบนี้มีความแตกต่างกัน จึงขออธิบายทีละแบบ

 

แบบแรก ง่ายหน่อย คือ เครื่องฉายแอลซีดี (LCD Projector)

เครื่องฉายแอลซีดี (LCD Projector) จะมีแผ่นแอลซีดี (LCD Panel) อยู่ภายในเครื่องฉายภาพเพื่อให้เป็นแหล่งภาพ

คำว่า LCD เป็นตัวย่อ มาจากคำว่า Liquid Crystal Display แปลว่า การแสดงภาพโดยใช้ผลึกเหลวทีแปรเปลี่ยนรูปร่างได้

โดยนำสัญญาณภาพจากคอมพิวเตอร์ต่อเข้าแผ่น LCD Panel 

เพื่อให้ LCD Panel แสดงภาพที่แปรเปลี่ยนไปตามสัญญาณที่รับมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์

ภายในเครื่องงฉายแอลซีดี (LCD Projector) จะมีแผ่น LCD Panel อยู่ 3 แผ่น 

แต่ละแผ่นแสดงภาพตามสัญญาณที่ส่งมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ 

แต่ให้แยกแสดงเป็นแต่ละแม่สีแสง คือ แผ่นสีแดง Red, แผ่นสีเขียว Green และแผ่นสีน้ำเงิน Blue

แล้วบังคับให้แสงที่มาจากแม่สีแสงทั้งสามสี มาซ้อนทับรวมกันโดยใช้ตัวรวมแสงที่เรียกว่า Prism ทำหน้าที่รวมสีจากแม่สีทั้งสามสี 

แสงจากแม่สีแสงทั้งสามเมื่อซ้อนทับกัน จะเกิดเป็นภาพสีจริง คือสีทีเป็นเช่นเดียวกับสีบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น

ภาพที่ได้ก็จะถูกนำส่งต่อไปยังเลนส์ฉายภาพ เลนส์ฉายภาพนี้ก็ทำหน้าที่รวมแสงแล้วส่งต่อไปบนจอรับภาพ

มันก็เลยเกิดเป็นภาพบนจอ เป็นภาพที่มีหน้าตาและสีสันเช่นเดียวกับภาพที่ปรากฏบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์

ขบวนการทำงานของเครื่องฉายแอลซีดี (LCD Projector) มันก็เป็นอย่างนี้นี่เอง

 

แบบต่อไปคือ เครื่องฉายดีแอลพี (DLP Projector) การทำงานของเครื่องแบบนี้มีความซับซ้อน พิศดารหน่อย

คำว่า DLP เป้นตัวย่อ มาจากคำว่า Digital Light Processing แปลเป็นไทยแล้วต้องแปลเป็นไทยอีกที คงเดาได้ความว่า 

"กระบวนการสร้างแสงระบบดิจิตอล"

ในเครื่องแบบนี้จะมีชิ้นส่วนสำคัญหลายอย่างมารวมอยู่ภายในเครื่อง อธิบายการทำงานสั้น ๆ แบบรวบรัดให้พอเข้าใจได้ ดังนี้

เริ่มจากการฉายแสง ให้แสงส่องผ่านวงล้อสี (Color Wheel หรือ Color Filter) ซึ่งมีอยู่เพียง 3 สี Red, Green และ Blue 

(ปัจจุบันนี้มีการเพิ่มส่วนสีขาวเข้าไปด้วย บางยี่ห้อเพิ่มสีเป้น 6 ส่วนก็มี)

แสงที่ส่องผ่านวงล้อสีจะเดินทางไปกระทบกับชิ้นส่วนที่เรียกว่า DMD Chip (Digital Micro-Mirror Device Chip) 

คำนี้ขอไม่แปลแต่เรียกทับศัพท์ดีกว่า

DMD Chip และวงล้อสี (Color Wheel หรือ Color Filter) จะทำงานร่วมสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ (Synchronization) 

ทำให้เกิดเป็นภาพและสีตามสัญญาณที่รับมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์

ตัว DMD Chip นี้มีส่วนประกอบสำคัญคือกระจกชิ้นเล็ก ๆ จำนวนหลายแสนชิ้น ทำหน้าที่รับแสงที่ส่องผ่านมาจากส่วนวงล้อสี

แล้วกระจกเหล่านี้จะทำการสะท้อนแสง (ภาพและสี) ให้เดินทางต่อไปยังเลนส์ฉายภาพ 

แสง (ภาพและสี) ที่ผ่านจากเลนส์ฉายภาพก็ถูกส่งต่อไปยังจอรับภาพ 

มันก็เลยเกิดเป็นภาพบนจอให้เราได้ชมกัน อย่างนี้นี่เอง

Visitors: 325,579